อังกฤษประกาศคว่ำบาตรผู้เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันร้ายแรงทั่วโลก
อังกฤษออกนโยบายในการคว่ำบาตรผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันแบบเฉพาะบุคคลด้วยการห้ามเดินทางเข้าประเทศ ระงับทรัพย์สิน และระงับธุรกรรมทางการเงินผ่านธนาคาร
ในวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2564 นายโดมินิก ราบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการพัฒนาของสหราชอาณาจักร ได้แถลงคว่ำบาตรผู้คอร์รัปชันชุดแรกภายใต้นโยบายใหม่เพื่อต่อต้านคอร์รัปชันทั่วโลก หรือ The Global Anti-Corruption sanctions regime โดยนโยบายนี้ทำให้สหราชอาณาจักรคว่ำบาตรผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันร้ายแรงทั่วโลกได้แบบเฉพาะบุคคลด้วยการห้ามเดินทางเข้าประเทศ ระงับทรัพย์สิน และระงับธุรกรรมทางการเงินผ่านธนาคารสหราชอาณาจักร เพื่อไม่ให้ผู้ก่อการคอร์รัปชันสามารถได้รับประโยชน์จากระบบเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร
การคอร์รัปชันส่งผลเสียต่อบุคคล ประชากร และระบบเศรษฐกิจโลก บ่อนทำลายประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ รวมไปถึงส่งผลให้เกิดอาชญากรรมระดับองค์กรและทวีความขัดแย้งให้รุนแรงมากขึ้น กว่าร้อยละสองของผลิตภัณฑ์มวลรวมทั่วโลกเสียไปกับการคอร์รัปชันทุกปี และทำให้ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจของแต่ละบริษัทเพิ่มขึ้นถึงร้อยละสิบ
นโยบายใหม่นี้จะให้สิทธิ์แก่สหราชอาณาจักรในการจัดการกับการคอร์รัปชันร้ายแรงได้ โดยเฉพาะกรณีการติดสินบนและการยักยอกทรัพย์สิน การจัดการนี้จะช่วยผลักดันระบบการปกครองที่มีประสิทธิภาพ เสริมสร้างสถาบันประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น และแสดงให้เห็นถึงจุดยืนในการเป็นผู้นำผลักดันสิ่งที่ถูกต้องของสหราชอาณาจักรในเวทีโลก
นายโดมินิก ราบ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศและการพัฒนาของสหราชอาณาจักร กล่าวว่า
“การคอร์รัปชันส่งผลกระทบให้การพัฒนาเป็นไปได้อย่างเชื่องช้า ทำลายความมั่งคั่งของประเทศรายได้น้อยและทำให้ประชากรของประเทศเหล่านั้นต้องติดอยู่กับกับดักความยากจน และสร้างผลเสียแก่รากฐานประชาธิปไตย
“บุคคลที่เราได้คว่ำบาตรไปนั้นเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับหลายกรณีคอร์รัปชันที่ฉาวโฉ่จากทั่วโลก
“สหราชอาณาจักรจะยืนหยัดเพื่อประชาธิปไตย หลักธรรมาภิบาลและหลักนิติธรรม เราจึงขอสื่อสารไปยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการคอร์รัปชันว่าเราจะไม่ยอมให้คุณและเงินจากคอร์รัปชันของคุณได้อยู่ในประเทศของเรา”
มาตรการคว่ำบาตรใหม่นี้จะทำในรูปแบบเฉพาะบุคคล สหราชอาณาจักรจึงสามารถคว่ำบาตรผู้กระทำความผิดโดยตรงได้โดยไม่จำเป็นต้องคว่ำบาตรทั้งประเทศนอกจากนี้ สหราชอาณาจักรจะดำเนินการบางส่วนโดยสอดคล้องกับสหรัฐอเมริกาซึ่งได้ประกาศนโยบายคว่ำบาตรการคอร์รัปชันเพิ่มเติมในวันเดียวกัน การที่ทั้งสองประเทศออกมาตรการสอดคล้องกันเช่นนี้เป็นการส่งสัญญานอย่างชัดเจนว่าการคิดจะคอร์รัปชันนั้นมีผลเสียมหาศาล
การคว่ำบาตรชุดแรกของสหราชอาณาจักรกระทำต่อบุคคล 22 คน รวมทั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโกงภาษีครั้งมโหฬารในรัสเซีย การคอร์รัปชันยาวนานในแอฟริกาใต้ และการคอร์รัปชันในละตินอเมริกาที่เอื้อประโยชน์ให้กับองค์กรลักลอบค้ายาเสพติดขนาดใหญ่
นโยบายคว่ำบาตรเพื่อต่อต้านคอร์รัปชันนี้ถือเป็นการต่อยอดจากนโยบายคว่ำบาตรกลุ่มผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนทั่วโลก (the Global Human Rights sanctions regime) ที่สหราชอาณาจักรเริ่มใช้เมื่อในเดือนกรกฎาคม ปีพ.ศ. 2563 ซึ่งส่งผลให้สหราชอาณาจักรดำเนินการคว่ำบาตรปัจเจกบุคคลและกลุ่มต่าง ๆ จากการละเมิดสิทธิมนุษยชนไปกว่า 78 กรณี รวมถึงกรณีในเมียนมา เบลารุส จีน และรัสเซีย