ข่าวประชาสัมพันธ์

สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษจัดประชุมและอบรมเรื่องการช่วยเหลือเหยื่อจากเหตุล่วงละเมิดทางเพศ

สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษจัดประชุมและอบรมเรื่องการช่วยเหลือเหยื่อจากเหตุล่วงละเมิดทางเพศในระหว่างวันที่ 7-8 ตุลาคม พ.ศ. 2562 ที่กรุงเทพฯ และวันที่ 10-11 ตุลาคม พ.ศ. 2562 ที่จังหวัดเชียงใหม่

เผยแพร่ภายใต้ 2019 to 2022 Johnson Conservative government
British Embassy Bangkok hosts a workshop on Rape and Sexual Assault Survivor Handling to Thai partners

สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษจัดอบรมระยะเวลา 2 วันร่วมกับหน่วยงานไทยเพื่อพัฒนาทักษะและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การช่วยเหลือผู้เสียหายจากเหตุล่วงละเมิดทางเพศ โดยจัดอบรมทั้งในกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ ในช่วงสัปดาห์นี้

สถิติในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาระบุว่าชาวอังกฤษที่มาท่องเที่ยวหรืออาศัยอยู่ในประเทศไทยเคยประสบเหตุล่วงละเมิดทางเพศอย่างน้อย 40 กรณี หรือคิดเป็น 4.2 % ของกรณีล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดกับชาวอังกฤษในต่างประเทศทั่วโลก ตัวเลขนี้ยังไม่นับรวมถึงกรณีอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นแต่เหยื่อไม่กล้าหรือไม่ประสงค์แจ้งเหตุต่อเจ้าหน้าที่ ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุด้วยกัน อย่างไรก็ตาม สถานทูตตั้งเป้าหมายให้ความช่วยเหลือแก่ชาวอังกฤษที่ประสบเหตุให้ได้อย่างมีคุณภาพที่สุด

การอบรมพัฒนาทักษะเรื่องการช่วยเหลือเหยื่อจากเหตุล่วงละเมิดทางเพศครั้งนี้ เป็นการต่อยอดกิจกรรมที่แผนกกงสุลสถานทูตอังกฤษและสถานกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริการ่วมกันดำเนินอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีการประสานงานกับศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว ตำรวจ และศูนย์พึ่งได้ของโรงพยาบาลในท้องถิ่น เพื่อจัดทำกรอบการทำงานที่มุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือเหยื่อเป็นหัวใจสำคัญ

สำหรับการอบรมครั้งนี้ สถานทูตอังกฤษได้เชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญมาจากศูนย์ Glasgow & Clyde Rape Crisis Centre ซึ่งเป็นองค์กรภาคีของกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร รับผิดชอบการให้ความช่วยเหลือชาวอังกฤษที่ประสบเหตุล่วงละเมิดทางเพศ โดยวิทยากรได้บรรยายเพิ่มทักษะในประเด็นต่าง ๆ เช่น บทบาทสำคัญของผู้รับแจ้งเหตุและให้ความช่วยเหลือคนแรก การให้ความช่วยเหลือที่มีประสิทธิภาพ ความละเอียดอ่อนทางวัฒนธรรม วิธีการพูดคุยกับผู้ประสบเหตุเพื่อลดภาวะเครียดหลังเหตุสะเทือนใจ ฯลฯ เป้าประสงค์ของการอบรมครั้งนี้เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถให้ความช่วยเหลือผู้ประสบเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยให้ผู้ประสบเหตุเยียวยาบาดแผลในจิตใจตนเองได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจากคุณซินดี้ สิรินยา บิชอพ และคุณเอ็มมา โธมัส มาแบ่งปันประสบการณ์ในฐานะผู้บรรยายรับเชิญ โดยทั้งสองท่านต่างทำงานรณรงค์เพื่อยุติความรุนแรงทางเพศอยู่ในประเทศไทย

การอบรมพัฒนาทักษะเรื่องการช่วยเหลือเหยื่อจากเหตุล่วงละเมิดทางเพศนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-8 ตุลาคมในกรุงเทพฯ และวันที่ 10-11 ตุลาคมในเชียงใหม่ โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมเป็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่าง ๆ ของไทย เช่น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว โรงพยาบาลตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สำนักงานอัยการ สภาสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โรงพยาบาลประจำจังหวัดเชียงใหม่ และหน่วยงานพัฒนาเอกชนต่าง ๆ รวมทั้งองค์กรที่ปฏิบัติงานจริงกับสถานทูตอังกฤษในพื้นที่ภาคเหนือ

มร.ไบรอัน เดวิดสัน เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย กล่าวว่า

ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษมาเยือนไทยกว่า 1 ล้านคน และยังมีชาวอังกฤษที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยอีกกว่า 60,000 คน แต่ละปีแผนกกงสุลของสถานทูตอังกฤษให้ความช่วยเหลือแก่ชาวอังกฤษในประเทศไทยกว่า 1,500 กรณี และในจำนวนนี้มีกรณีที่เกี่ยวกับการถูกล่วงละเมิดทางเพศถึงเฉลี่ยปีละ 15 กรณี ทางสถานทูตได้ร่วมมือใกล้ชิดกับหน่วยงานไทย เช่น ศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว เจ้าหน้าที่ตำรวจ และศูนย์พึ่งได้ของโรงพยาบาลในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเพิ่มพูนทักษะให้เจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่รับแจ้งเหตุสามารถช่วยเหลือผู้ประสบเหตุได้อย่างเหมาะสมตั้งแต่ขั้นตอนแรกเริ่ม การอบรมพัฒนาทักษะเรื่องการช่วยเหลือเหยื่อจากเหตุล่วงละเมิดทางเพศครั้งนี้ถือเป็นการต่อยอดงานที่เราทำในเชียงใหม่ โดยขยายผลให้ครอบคลุมพื้นที่อื่น ๆ ในประเทศไทย เราหวังว่าการอบรมนี้จะเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจเพื่อช่วยพัฒนาทักษะให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

มร. ฌอน โอนีลล์ กงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกาประจำเชียงใหม่ กล่าวว่า

ผมขอขอบคุณรัฐบาลไทยที่ได้ดำเนินการต่าง ๆ ในประเด็นสำคัญเช่นนี้ รวมทั้งขอบคุณสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษที่จัดการประชุมอบรมนี้ขึ้น รัฐบาลสหรัฐให้ความสำคัญเร่งด่วนที่สุดกับการปกป้องพลเมืองของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหยื่ออาชญากรรมร้ายแรงเช่นการล่วงละเมิดทางเพศ ดังนั้นผมจึงยินดีที่เรามีความร่วมมือที่ดีกับรัฐบาลไทยและสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษในเรื่องนี้

นายอนันต์ วงศ์เบญจรัตน์ รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า

ตามนโยบายของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งมีเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพ และมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยว เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ พร้อมทั้ง ส่งเสริมให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชน และการให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว อาทิ อาชญากรรม การฉ้อฉล และอุบัติเหตุ โดยมีการวางกรอบความร่วมมือ ประสานงาน และการบริหารจัดการทรัพยากรในทุกมิติของงานด้านการจัดการท่องเที่ยวของประเทศไทย ทั้งนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวและเจ้าหน้าที่ TAC เพื่อช่วยเหลือดูแลและอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวต่างชาติ โดยมีการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ข้อมูลเพิ่มเติม

  • แต่ละปีมีชาวอังกฤษเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยกว่า 1 ล้านคน และมีชาวอังกฤษอาศัย อยู่ในประเทศไทยอีกกว่า 60,000 คน แต่ละปีแผนกกงสุลของสถานทูตอังกฤษให้ความช่วยเหลือแก่ชาวอังกฤษในประเทศไทยกว่า 1,500 กรณี ตัวเลขระหว่างเดือนมิถุนายน 2559 – มิถุนายน 2562 ระบุว่าแผนกกงสุลของสถานทูตอังกฤษในประเทศไทยได้ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้รอดชีวิตจากเหตุล่วงละเมิดทางเพศชาวอังกฤษในไทยไปทั้งสิ้น 40 กรณี คิดเป็นร้อยละ 4.2 ของกรณีที่เกิดขึ้นทั่วโลก 962 กรณีในช่วงเวลาเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวยังไม่รวมถึงกรณีอื่น ๆ ที่เหยื่อผู้รอดชีวิตอาจไม่เข้าแจ้งความหรือแจ้งเหตุต่อเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ หน่วยงานสำรวจด้านอาชญากรรมในอังกฤษและเวลส์ (Crime Survey for England and Wales – CSEW) ได้สำรวจพบว่าผู้ประสบเหตุล่วงละเมิดทางเพศราวร้อยละ 83 ไม่ได้เข้าแจ้งความต่อตำรวจ

  • ซินดี้ สิรินยา บิชอพ เป็นนางแบบ นักแสดง พิธีกร และเป็นผู้ริเริ่มโครงการ #Don’tTellMeHowToDress ซึ่งรณรงค์ให้สังคมหยุดโทษพฤติกรรมหรือรูปร่างหน้าตาของเหยื่อว่าเป็นสาเหตุของการล่วงละเมิดทางเพศ ซินดี้ได้ร่วมงานกับองค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) และหน่วยงานพันธมิตรอื่น ๆ เพื่อยุติวงจรการโทษเหยื่อว่าเป็นเหตุของอาชญากรรม

  • เอ็มมา โธมัส เป็นชาวอังกฤษที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย และสนใจการฝึกมวยไทยอย่างจริงจัง ในฐานะเหยื่อที่เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ เอ็มมาใช้บล็อกส่วนตัว (Under the Ropes) เป็นพื้นที่รณรงค์เพื่อยุติการล่วงละเมิดทางเพศ ปัจจุบันเธอร่วมงานอาสากับองค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ โดยได้เดินทางไปแบ่งปันประสบการณ์ในที่ต่าง ๆ นอกจากนี้ยังเป็นคณะกรรมการของชมรม Bangkok Rising ที่รณรงค์เพื่อประเด็นทางเพศอีกด้วย

ข้อมูลเพิ่มเติม

  • ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำแนะนำของกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักรสำหรับชาวอังกฤษที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศในประเทศไทยได้ที่ FCO guidance for survivors of rape and sexual assaults in Thailand

  • ติดตามข้อมูลอื่น ๆ และคำแนะนำของกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักรสำหรับชาวอังกฤษที่จะเดินทางมายังประเทศไทยได้ที่ FCO Travel Advice

  • หากเกิดเหตุขึ้นกับนักท่องเที่ยว สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ ได้ที่ ศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว 0 2134 4077 และสายด่วนตำรวจท่องเที่ยว 1155 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

Updates to this page

เผยแพร่เมื่อ 7 October 2019