ข่าวสารรอบโลก

กระทรวงพลังงานเปิดตัว The Thai 2050 Energy Pathways Calculator

สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก และ กระทรวงพลังงานเปิดตัวแบบจำลองแนวทางการคำนวณการใช้พลังงานของไทยจนถึงปี ค.ศ. 2050

เผยแพร่ภายใต้ 2010 to 2015 Conservative and Liberal Democrat coalition government
Launch of the Thai 2050 Energy Pathways Calculator

กระทรวงพลังงานและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศแห่งสหราชอาณาจักรร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (อบก.) และกระทรวงพลังงานของไทย(ของไทยได้เปิดตัว “แบบจำลองแนวทางการคำนวณการใช้พลังงานของไทยจนถึงปี ค.ศ. 2050 หรือแบบจำลองการใช้พลังงาน 2050” (The Thai 2050 Energy Pathways Calculator) อย่างเป็นทางการ

แบบจำลองการใช้พลังงาน 2050 คือโปรแกรมบนเว็บไซต์ แสดงความสัมพันธ์ของอุปสงค์อุปทานการใช้พลังงานและผลลัพธ์เมื่อประเทศไทยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แบบจำลองฯ นี้เป็นเครื่องมือที่ออกแบบเพื่อให้ประชาชนทั่วไปและผู้บริหารที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคสามารถศึกษาและเข้าใจภาพจำลองการปล่อยก๊าซคาร์บอนจนถึงปี ค.ศ. 2050 หรือ พ.ศ. 2593 ได้

แบบจำลองฯ นี้ใช้ข้อมูลการใช้พลังงานจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และสำนักนโยบายและแผนพลังงาน โดยได้ดัดแปลงจากแบบจำลองฯ ของสหราชอาณาจักรโดยทีมผู้เชี่ยวชาญของไทยเพื่อให้ข้อมูลต่างๆ นี้สอดคล้องกับสถานการณ์พลังงานของไทย เข้าชมแบบจำลองฯ ของไทย และ แบบจำลองฯ ของอังกฤษ UK 2050 Calculator

สหราชอาณาจักรเป็นประเทศแรกในโลกที่ได้ออกพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ในปี ค.ศ. 2008 (พ.ศ.2551) โดยมีเป้าหมายเรื่องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนอย่างจริงจังที่ 36% ภายในปี ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) และ 80% ในปี ค.ศ.2050 (พ.ศ. 2593) พร้อมทั้งมีแผนและมาตรการต่างๆ ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนซึ่งจะประกาศใช้ทุกๆ 5 ปี ต่อมาในปี ค.ศ. 2010 (พ.ศ. 2553) กระทรวงพลังงานฯ แห่งสหราชอาณาจักรได้พัฒนาและเปิดตัวแบบจำลองแนวทางการคำนวณการใช้พลังงานของประเทศเพื่อช่วยในการกำหนดทิศทางในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและพัฒนาความมั่นคงด้านพลังงาน

ดร.แอนนา สตีเฟ่นสัน วิศวกร จากกระทรวงพลังงานและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศแห่งสหราชอาณาจักรกล่าวว่า:

แบบจำลองนี้ช่วยให้เราตอบโจทย์ต่างๆ ได้ เช่น เราควรจะใช้เทคโนโลยีอะไร และการเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตในแบบไหนที่จำเป็นต้องทำภายในปี 2050 เพื่อช่วยให้พวกเราสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้มากถึง 80% ภายในปี 2050 (โดยเทียบเคียงกับระดับปีฐาน 1990) แบบจำลองนี้เสนอแนวทางที่ง่ายในการศึกษาภาพจำลองในอนาคตและผลของการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

เนื่องจากแบบจำลองฯ ดังกล่าวมีประโยชน์ในการทำงานอย่างมาก กระทรวงพลังงานฯ สหราชอาณาจักรจึงได้ติดต่อไปยังประเทศต่างๆ เช่น เบลเยี่ยม จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน ญี่ปุ่น เม็กซิโก อินโดนีเซีย เวียดนาม และไทย เพื่อช่วยสนับสนุนให้มีการพัฒนาแบบจำลองนี้ในแต่ละประเทศด้วยเงินทุนสนับสนุนจากโครงการกองทุนภูมิอากาศระหว่างประเทศ (International Climate Fund หรือ ICF) ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้เริ่มโครงการพัฒนาแบบจำลองนี้ด้วยเงินทุนจำนวน 100,000 ปอนด์ หรือประมาณ 5,300,000 บาท มีการฝึกอบรมด้านเทคนิคในการทำแบบจำลองทั้งในประเทศไทยและสหราชอาณาจักร รวมถึงการศึกษาดูงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสหราชอาณาจักร เช่น กระทรวงคมนาคมและสำนักงานสถิติ กระทรวงพลังงานฯ เพื่อศึกษาการจัดทำข้อมูลในการพัฒนาแบบจำลองฯ

ดร.แอนนา เสริมว่า:

เราสนใจอยากร่วมงานกับประเทศไทยเป็นพิเศษ เพราะภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งในแหล่งพลังงานของโลก และไทยก็ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ในภูมิภาคนี้ การตัดสินใจด้านพลังงานและใช้ที่ดินของประเทศในแถบนี้ เช่นประเทศไทย จะมีผลต่อเราทุกคน กระทรวงพลังงานฯ สหราชอาณาจักรจึงสนับสนุนการพัฒนาแบบจำลองฯ ของไทยอย่างเต็มที่ เพราะเราเชื่อว่าการพัฒนานี้เป็นประโยชน์ทั้งต่อสหราชอาณาจักรและประเทศไทย

เมื่อถามว่า ทำไมแบบจำลองฯ นี้จึงมีประโยชน์ต่อผู้กำหนดนโยบาย ดร.แอนนาตอบว่า “แบบจำลองฯ ของ สหราชอาณาจักรได้มีส่วนในการวางแนวทางนโยบายด้านพลังงานและภูมิอากาศในประเทศ เช่น การพัฒนาแผนการปล่อยก๊าซคาร์บอนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนภายในปี 2050 แบบจำลองนี้ยังช่วยให้ข้อมูลและตัวเลขต่างๆ ในประเด็นการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศ เราหวังว่า แบบจำลองฯ ของไทยจะเป็นประโยชน์ในการการอภิปรายเรื่องพลังงานและการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนมากเท่าๆ กับที่เราได้รับในอังกฤษ เราหวังว่าผู้กำหนดนโยบายและคนทั่วไปจะสนใจใช้แบบนี้จำลองนี้ และเรายังหวังว่าจะได้ร่วมงานกับทีมพัฒนาแบบจำลองและผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานคนอื่นๆ ในไทยต่อไปในอนาคต”

มร. พอล บิวท์ อัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย กล่าวว่า:

ผมขอแสดงความยินดีกับความสำเร็จในครั้งนี้ที่ประเทศไทยได้พัฒนาแบบจำลองแนวทางการคำนวณการใช้พลังงานของไทยจนถึงปี ค.ศ. 2050 และมีความยินดีที่ กองทุนภูมิอากาศนานาชาติ พร้อมด้วยแรงสนับสนุนจากกระทรวงพลังงานฯ แห่งสหราชอาณาจักรได้ช่วยพัฒนาแบบจำลองฯ ของไทย เพื่อเป็นเครื่องมือของประเทศในการช่วยจัดทำนโนบายด้านพลังงาน

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร รองปลัดฯ กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า:

แบบจำลองฯ บนเว็บไซต์นี้ดีมาก ผมเชื่อว่า ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์อย่างมากจากความสำเร็จครั้งนี้ และขอขอบคุณรัฐบาลสหราชอาณาจักรที่สนับสนุนโครงการในประเทศไทย เรากำลังจัดทำพิมพ์เขียวด้านพลังงานของประเทศและจะสรุปผลภายในเดือนธันวาคมนี้ การเปิดตัวแบบจำลองฯ นี้จึงเหมาะเจาะเป็นอย่างยิ่ง ทางกระทรวงจะหารือกับทางองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจกและทีมที่พัฒนาต่อไปถึงแผนการทำงานต่อไปในอนาคต

นางประเสริฐสุข จามรมาน ผู้อำนวยการองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก กล่าวว่า:

แบบจำลองฯ นี้มีประโยชน์มาก โครงการนี้ช่วยเพิ่มความรู้และทักษะทางเทคนิคสำหรับทีมที่พัฒนาแบบจำลอง ดิฉันยังเชื่อว่า แบบจำลองนี้สามารถช่วยให้ประเทศไทยรวบรวมข้อมูลในภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง (เช่น ภาคป่าไม้ และภาคการเกษตร) เราขอขอบคุณรัฐบาลสหราชอาณาจักรที่เลือกสนับสนุนประเทศไทยให้พัฒนาแบบจำลองของเราโดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดความรู้ต่างๆ

ในการเปิดตัวครั้งนี้ มีการนำเสนอเกี่ยวกับแบบจำลองฯ ของสหราชอาณาจักรและการเปิดตัวแบบจำลองฯ ของประเทศไทยให้แก่นักวิชาการ ข้าราชการ นักธุรกิจ และผู้ที่สนใจ นับเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มุ่งสู่การนำแบบจำลองฯ ของไทยมาปรับใช้ในการจัดทำและวางแผนนโยบายพลังงานของประเทศ และในหมู่ประชาชนโดยทั่วไป

Updates to this page

เผยแพร่เมื่อ 28 November 2014
อัปเดตล่าสุดเมื่อ 1 December 2014 + show all updates
  1. Added translation

  2. Added translation