ข่าวสารรอบโลก

นักวิทยาศาสตร์จากสหราชอาณาจักรได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ครั้งที่ 28

ศ. นพ. เดวิด เมบี ศาสตราจารย์สาขาโรคติดต่อ วิทยาลัยสุขภาพและเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยลอนดอน ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลเป็นคนที่ 14 ของสหราชอาณาจักร

เผยแพร่ภายใต้ 2019 to 2022 Johnson Conservative government
UK Scientist Prof. David Mabey

UK Scientist Prof. David Mabey

วันนี้ (21 พฤศจิกายน 2562) มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกันแถลงผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ครั้งที่ 28 ประจำปี 2562 ณ โรงพยาบาลศิริราช โดยในปีนี้ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลสาขาการสาธารณสุขได้แก่ ศาสตราจารย์นายแพทย์ เดวิด เมบี (Professor David Mabey) ศาสตราจารย์สาขาโรคติดต่อ และภาควิชาวิจัยคลินิก วิทยาลัยสุขภาพและเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยลอนดอน สหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลเป็นคนที่ 14 ของสหราชอาณาจักร

ในปีนี้ มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลทั้งสิ้น 66 รายจาก 35 ประเทศ โดยในการพิจารณาตัดสินขั้นสุดท้าย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธาน และจะมีพระราชพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลประจำปี 2562 ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2563 ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง

ศาสตราจารย์นายแพทย์เดวิด เมบี ได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคริดสีดวงตามากว่า 30 ปี ผลงานวิจัยนี้นำไปสู่นโยบายขององค์การอนามัยโลก ที่จะกำจัดโรคริดสีดวงตาให้หมดไปด้วยโปรแกรมเซฟ (SAFE) ประกอบด้วยการควบคุมโรคโดยการผ่าตัด (surgery) การรักษาแบบครอบคลุมด้วยยาปฏิชีวนะ (antibiotic) ส่งเสริมการล้างหน้า (face washing) และการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัย (environment) โดยมีการให้ยาเอซิโทรมัยซินถึง 700 ล้านโดส สำหรับประชาชนใน 40 ประเทศ ระหว่างปี พ.ศ. 2542-2560 ขณะนี้มี 13 ประเทศ ที่รายงานว่าสามารถกำจัดโรคริดสีดวงตาให้หมดไปได้สำเร็จแล้ว องค์การอนามัยโลกได้ตั้งเป้าหมายที่จะกำจัดโรคริดสีดวงตาให้หมดไปจากปัญหาทางสาธารณสุข และไม่เป็นสาเหตุของตาบอดในทุกประเทศทั่วโลกภายในปีพ.ศ. 2568

ศาสตราจารย์เมบี มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการชั้นนำกว่า 200 เรื่อง และได้รับรางวัลต่างๆ เกี่ยวกับการศึกษาปัญหาสุขภาพในเขตร้อน รวมถึงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชั้น Commander of the British Empire (CBE) โดยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ในปี พ.ศ. 2557 จากผลงานการให้บริการเพื่อพัฒนาสุขภาพในเอเชียและแอฟริกา

ศาสตราจารย์นายแพทย์ เดวิด เมบี เป็นผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลเป็นคนที่ 14 ของสหราชอาณาจักร นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษคนแรกที่ได้รับพระราชทานรางวัลนี้คือ เซอร์วิลเลียม ริชาร์ด ชาโบ ดอลล์ (Sir William Richard Shaboe Doll) ผู้ค้นพบหลักฐานความเชื่อมโยงระหว่างโรคมะเร็งปอดและการสูบบุหรี่ เขาได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลเมื่อปี พ.ศ. 2535 นอกจากนี้ เซอร์เกรกอรี พอล วินเทอร์ (Sir Gregory Paul Winter) ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลในปี พ.ศ. 2559 จากการพัฒนาเทคโนโลยีการสร้างและดัดแปลงโมเลกุลของแอนติบอดีให้มีประสิทธิภาพสูงและมีความเป็นสิ่งแปลกปลอมลดลง (Antibody Humanization) นำไปการพัฒนายากลุ่มใหม่จากชีวโมเลกุลซึ่งมีประโยชน์อย่างมากในการรักษาโรค ต่อมายังได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมี ประจำปี 2561 จากการพัฒนาเดียวกัน

การได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลครั้งนี้สะท้อนความร่วมมือทางการแพทย์ที่สหราชอาณาจักรและไทยมีร่วมกันอย่างแข็งแกร่งมายาวนาน สำหรับความร่วมมือด้านงานวิจัยที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น การจัดตั้งหน่วยวิจัยโรคเขตร้อน มหิดล-อ๊อกซ์ฟอร์ด (Mahidol-Oxford Tropical Medicine Research Unit) และการตั้งสำนักงานของวิทยาลัยสุขภาพและเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยลอนดอน (London School of Hygiene and Tropical Medicine) ในคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากนี้ยังมีโครงการอื่น ๆ ที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรและไทยร่วมกันสนับสนุนผ่านกองทุนนิวตันเพื่อความร่วมมือและนวัตกรรม

สหราชอาณาจักรยินดีอย่างยิ่งที่จะพัฒนาความร่วมมือกับประเทศไทยในด้านต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น รวมทั้งในด้านการศึกษาทางการแพทย์ และนโยบายสุขภาพ ซึ่งความร่วมมือเหล่านี้จะช่วยส่งเสริมนักวิจัยของไทยและสหราชอาณาจักรให้สามารถจับมือกันค้นหาแนวทางแก้ปัญหาสุขภาพใหม่ ๆ ที่โลกกำลังเผชิญ

ข้อมูลเพิ่มเติม

Professor David Mabe

  • รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เป็นรางวัลที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในโอกาสจัดงานเฉลิมฉลอง 100 ปี แห่งการพระราชสมภพ 1 มกราคม 2535 ดำเนินงานโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐานธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน มอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ทางด้านการแพทย์ 1 รางวัล และด้านการสาธารณสุข 1 รางวัล เป็นประจำทุกปีตลอดมา แต่ละรางวัลประกอบด้วย เหรียญรางวัล, ประกาศนียบัตร และเงินรางวัล 100,000 เหรียญสหรัฐ

  • พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2562 ในวันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2563 เวลา 17.30 น. ณ พระที่นั่งจักรีมหาประสาท ในพระบรมมหาราชวัง โดยในวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2563 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในฐานะผู้ริเริ่มรางวัลอันทรงเกียรติจะเชิญผู้รับพระราชทานรางวัลฯ มาเยือนและแสดงปาฐกถาเกียรติยศ ในผลงานที่ได้รับด้วย

Updates to this page

เผยแพร่เมื่อ 21 November 2019