คำแนะนำเบื้องต้นเมื่อบุคคลสัญชาติอังกฤษเสียชีวิตในประเทศไทย
คู่มือนี้ให้คำแนะนำสำหรับกรณีบุคคลสัญชาติอังกฤษเสียชีวิตในประเทศไทย รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับการประกอบพิธีฌาปนกิจ การฝังศพ และการนำร่างกลับสหราชอาณาจักร
หากเป็นกรณีการเสียชีวิตของเด็ก การเสียชีวิตหมู่ การเสียชีวิตที่มีสาเหตุไม่แน่ชัด หรือการฆาตกรรม สามารถติดต่อเบอร์ +66 (0) 2 305 8333
แจ้งเสียชีวิตและขอรับใบมรณบัตร
กรณีเสียชีวิตนอกโรงพยาบาล ควรแจ้งตำรวจท้องที่โดยเร็วที่สุด เพื่อนำรายงานแจ้งการเสียชีวิตจากตำรวจไปขอรับใบมรณบัตรที่สำนักงานเขตท้องที่หรือที่ว่าการอำเภอ
โดยปกติแล้ว จะมีการนำร่างผู้เสียชีวิตไปยังสถานที่เก็บศพเพื่อระบุตัวตนอย่างเป็นทางการ ซึ่งระเบียบปฏิบัติของสถานที่เก็บศพแต่ละแห่งในประเทศไทยจะมีความแตกต่างกันมาก
การเสียชีวิตต้องมีการแจ้งในประเทศที่บุคคลนั้นเสียชีวิต สำหรับประเทศไทย สามารถแจ้งได้ที่สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอ ซึ่งจะเป็นผู้ออกใบมรณบัตรเป็นภาษาไทยให้ โดยสามารถขอรับเอกสารดังกล่าวได้เมื่อมีการแจ้งการเสียชีวิต หากเป็นการเสียชีวิตที่โรงพยาบาล สถานพยาบาลอาจช่วยติดต่อสำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอให้ในนามของครอบครัว ท่านอาจขอสำเนาใบมรณบัตรเพิ่มเติมเพื่อใช้ในการแจ้งการเสียชีวิตกับองค์กรอื่นๆ อย่างเป็นทางการ
ท่านไม่จำเป็นต้องแจ้งเสียชีวิตในสหราชอาณาจักรอีก เนื่องจากใบมรณบัตรที่ออกในประเทศไทยสามารถใช้ในสหราชอาณาจักรเพื่อดำเนินการต่างๆ ได้ เช่น การพิสูจน์พินัยกรรม โดยท่านต้องแปลใบมรณบัตรเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งในประเทศไทยการแปลเอกสารมีให้บริการอย่างแพร่หลายในเมืองใหญ่ แต่จะมีให้บริการน้อยกว่าในต่างจังหวัด
หากต้องการ ท่านสามารถแจ้งเสียชีวิตกับหน่วยทะเบียนต่างประเทศ (Overseas Registration Unit) (เป็นภาษาอังกฤษ) โดยสามารถสั่งซื้อใบมรณบัตรในรูปแบบของสหราชอาณาจักรได้ หรือที่เรียกว่า Consular Death Registration certificate โดยจะมีการส่งบันทึกการแจ้งเสียชีวิตดังกล่าวไปยังสำนักทะเบียนกลาง (General Register Office) ภายใน 12 เดือน
ท่านต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ในท้องที่หากผู้เสียชีวิตเป็นโรคติดต่อ เช่น โรคตับอักเสบหรือโรคเอดส์ เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้ป้องกันการติดเชื้อ
การชันสูตรพลิกศพในประเทศไทย
เมื่อชาวต่างชาติเสียชีวิตในประเทศไทย โดยทั่วไปแล้วจะมีการชันสูตรพลิกศพ ซึ่งอาจมีข้อยกเว้นหากเป็นการเสียชีวิตที่โรงพยาบาล เว้นแต่เป็นการเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ ผิดธรรมชาติ กะทันหัน หรือจากความรุนแรง โดยแพทย์นิติเวชจะเป็นผู้ชันสูตรพลิกศพ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวอาจไม่มีการคำนึงถึงเรื่องศาสนาและวัฒนธรรม และสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยไม่สามารถแทรกแซงการชันสูตรพลิกศพได้
เจ้าหน้าที่อาจต้องมีการตัดตัวอย่างชิ้นส่วนเนื้อเยื่อและอวัยวะเก็บไว้เพื่อชันสูตรพลิกศพ โดยไม่ได้ขอความยินยอมหรือแจ้งให้ญาติทราบ
หากต้องการสำเนารายงานการชันสูตรพลิกศพ ท่านต้องแจ้งขอรับเอกสารดังกล่าวกับเจ้าหน้าที่ชันสูตรศพในสหราชอาณาจักร (ในกรณีนำร่างกลับสหราชอาณาจักร) หรือแจ้งกับบริษัทผู้จัดการศพที่ท่านใช้บริการในประเทศไทย ซึ่งอาจมีค่าธรรมเนียม
ในประเทศไทย รายงานการชันสูตรพลิกศพส่วนใหญ่จะเป็นภาษาไทย และสามารถติดต่อขอรับได้หลังจากเสียชีวิตสามเดือน
ขอรับหนังสือกงสุล
ท่านอาจต้องขอหนังสือกงสุลจากสถานทูตฯ เพื่อขอให้หน่วยงานท้องที่หรือโรงพยาบาลอนุญาตให้นำร่างออกมาประกอบพิธีฌาปนกิจ ฝังศพ หรือนำร่างกลับสหราชอาณาจักร
ท่านสามารถขอรับหนังสือกงสุลได้จากสถานทูตฯ ในกรุงเทพมหานคร โดยส่งอีเมลมาที่ Bangkok.DocumentServices@fco.gov.uk หรือโทร +66 (0)2 3058 333 หากท่านอยู่ที่สหราชอาณาจักร โปรดติดต่อสำนักงานการต่างประเทศ เครือจักรภพ และการพัฒนา ได้ที่เบอร์ +44(0)207 008 5000
หากต้องการขอรับหนังสือกงสุล ท่านต้องส่งสำเนาของเอกสารต่อไปนี้
- หน้าหนังสือเดินทางที่มีรูปถ่าย หรือบัตรประจำตัวประชาชนของท่าน
- ทะเบียนสมรส (หากเป็นคู่สมรสของผู้เสียชีวิต)
- หนังสือเดินทางของผู้เสียชีวิต
- หนังสือแจ้งการเสียชีวิตที่ออกโดยตำรวจหรือโรงพยาบาล
- หนังสือมอบอำนาจเพื่อแต่งตั้งตัวแทนให้ดำเนินการในนามของครอบครัวหรือญาติ (พร้อมข้อมูลการติดต่อและสำเนาหนังสือเดินทางหรือบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่ได้รับมอบอำนาจดังกล่าว)
- สำหรับบริษัทผู้จัดการศพ ให้เตรียมสำเนาเอกสารที่เกี่ยวข้องข้างต้น โดยแจ้งขอรับหนังสือกงสุลมายังสถานทูตฯ เป็นลายลักษณ์อักษร โดยใช้อีเมลของบริษัทหรือจดหมายทางการ
ประกอบพิธีฌาปนกิจหรือฝังศพในประเทศไทย
ในการจัดพิธีฌาปนกิจหรือฝังศพในประเทศไทย ญาติหรือตัวแทนที่ได้รับมอบอำนาจอย่างเป็นทางการจะต้องแต่งตั้งบริษัทผู้จัดการศพในประเทศไทย ท่านสามารถค้นหารายชื่อบริษัทผู้จัดการศพในประเทศไทยได้ที่นี่ (เป็นภาษาอังกฤษ)
ด้วยเหตุผลทางศาสนา การฝังศพจึงไม่เป็นที่นิยมในประเทศไทย เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูงและดำเนินการยาก ดังนั้นจึงแนะนำให้ญาติพิจารณาส่งร่างกลับสหราชอาณาจักร หากต้องการทำพิธีฝังศพผู้เสียชีวิต
พิธีฌาปนกิจจะจัดได้ก็ต่อเมื่อเจ้าหน้าที่เห็นว่ามีสาเหตุการเสียชีวิตที่แน่ชัด หรือไม่จำเป็นต้องมีการตรวจร่างเพื่อชันสูตรพลิกศพเพิ่มเติม
หากไม่มีการติดต่อขอรับศพภายในระยะเวลาที่กำหนด (โดยปกติคือ 30 วัน) จะมีการฌาปนกิจหรือฝังศพในงานศพรวมสำหรับผู้ยากไร้ โดยเจ้าหน้าที่กงสุลอาจขอข้อมูลของสถานที่ฝังศพดังกล่าวจากเจ้าหน้าที่ได้
หากมีการฌาปนกิจหรือฝังศพในประเทศไทยแล้ว จะไม่มีการชันสูตรพลิกศพในสหราชอาณาจักรอีก
ติดต่อบริษัทประกันภัยการเดินทาง
หากผู้เสียชีวิตมีประกันภัย ให้ติดต่อบริษัทประกันภัยโดยเร็วที่สุด เนื่องจากประกันภัยอาจช่วยเหลือด้านค่าใช้จ่ายในการนำร่างกลับสหราชอาณาจักร และอาจครอบคลุมถึงค่าธรรมเนียมด้านการรักษาพยาบาล กฏหมาย การแปลภาษาและล่าม
หากผู้เสียชีวิตมีประกันภัย บริษัทประกันภัยจะแต่งตั้งบริษัทผู้จัดการศพทั้งในประเทศไทยและสหราชอาณาจักร
กรณีผู้เสียชีวิตไม่มีประกันภัย
หากท่านไม่ทราบแน่ชัดว่าผู้เสียชีวิตมีประกันภัยหรือไม่ ให้ตรวจสอบกับธนาคาร บริษัทบัตรเครดิต หรือนายจ้างของผู้เสียชีวิต
หากผู้เสียชีวิตไม่มีประกันภัย ญาติหรือตัวแทนที่ได้รับมอบอำนาจอย่างเป็นทางการจะต้องแต่งตั้งบริษัทผู้จัดการศพและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ท่านสามารถค้นหารายชื่อบริษัทผู้จัดการศพระหว่างประเทศในสหราชอาณาจักรได้ที่นี่ (เป็นภาษาอังกฤษ)
สถานทูตฯ ไม่สามารถช่วยเหลือด้านค่าใช้จ่ายได้ ในบางกรณี บริษัทผู้จัดการศพและทนายความอาจให้บริการแบบงานกุศล กล่าวคือให้บริการโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายหรือลดค่าบริการให้พิเศษ ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของแต่ละบุคคล โดยจะมีการพิจารณาเป็นกรณีไป
องค์กรการกุศลและหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือ
องค์กรการกุศลและหน่วยงานบางแห่งในสหราชอาณาจักรอาจให้ความช่วยเหลือและสนับสนุน รวมถึงให้ข้อมูลแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเสียชีวิตในต่างประเทศ ท่านสามารถค้นหารายชื่อองค์กรการกุศลและหน่วยงานในสหราชอาณาจักรได้ที่นี่ (เป็นภาษาอังกฤษ)
นำร่างกลับสหราชอาณาจักร
หากผู้เสียชีวิตมีประกันภัย ให้ตรวจสอบว่าบริษัทประกันภัยสามารถช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการนำร่างกลับสหราชอาณาจักรได้หรือไม่ หากมีประกันภัย บริษัทจะดำเนินการจัดการศพให้ทั้งหมด
หากผู้เสียชีวิตไม่มีประกันภัย ท่านจะต้องแต่งตั้งบริษัทผู้จัดการศพระหว่างประเทศด้วยตัวเอง
ค้นหาบริษัทผู้จัดการศพระหว่างประเทศ
ญาติหรือตัวแทนที่ได้รับมอบอำนาจอย่างเป็นทางการต้องแต่งตั้งบริษัทผู้จัดการศพระหว่างประเทศในสหราชอาณาจักรเพื่อนำร่างผู้เสียชีวิตกลับประเทศ ท่านสามารถค้นหารายชื่อบริษัทผู้จัดการศพระหว่างประเทศในสหราชอาณาจักรได้ที่นี่ (เป็นภาษาอังกฤษ)
บริษัทผู้จัดการศพในประเทศไทยจะประสานงานกับบริษัทผู้จัดการศพในสหราชอาณาจักรเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามข้อกำหนดทั้งหมดทั้งในประเทศไทยและสหราชอาณาจักร ซึ่งรวมถึงการจัดเตรียมเอกสาร เช่น ใบมรณบัตรตามทะเบียนราษฎรของไทย ใบรับรองการแต่งศพ และใบรับรองที่อนุญาตให้นำร่างกลับสหราชอาณาจักร
คำแนะนำและความช่วยเหลือทางการเงินสำหรับการนำร่างกลับสหราชอาณาจักร
สำหรับหน่วยงานและองค์กรการกุศลที่อาจให้ความช่วยเหลือในการนำร่างกลับสหราชอาณาจักรนั้น โปรดดูข้อมูลขององค์กร LBT Global ในหัวข้อการดำเนินการกรณีมีการเสียชีวิตในต่างประเทศ รวมถึงการสนับสนุนและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ (เป็นภาษาอังกฤษ) หรือองค์กรการกุศลในประเทศไอร์แลนด์เหนือและเวลส์ที่ช่วยเหลือในการนำร่างกลับสหราชอาณาจักร (เป็นภาษาอังกฤษ)
หากต้องการ ท่านสามารถขอให้เจ้าหน้าที่ชันสูตรศพของสหราชอาณาจักรดำเนินการชันสูตรพลิกศพในสหราชอาณาจักรได้เมื่อนำร่างกลับไปแล้ว และเจ้าหน้าที่จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจำเป็นต้องมีการชันสูตรพลิกศพหรือไม่ หากต้องการทำพิธีฌาปนกิจ ท่านต้องขอใบรับรองจากเจ้าหน้าที่ชันสูตรศพ (แบบฟอร์ม ‘Cremation 6’) (เป็นภาษาอังกฤษ)
นำอัฐิกลับสหราชอาณาจักร
ท่านสามารถเลือกประกอบพิธีฌาปนกิจในประเทศไทยและนำอัฐิกลับสหราชอาณาจักรด้วยตัวเอง
โปรดตรวจสอบกับสายการบินเรื่องข้อจำกัดหรือข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง เช่น การนำอัฐิใส่กระเป๋าขึ้นเครื่อง เมื่อนำอัฐิออกจากประเทศไทย ท่านจะต้องดำเนินการต่อไปนี้
-
แสดงใบมรณบัตร
-
แสดงใบรับรองการฌาปนกิจ
-
กรอกแบบฟอร์มศุลกากรทั่วไปเมื่อเดินทางถึงสหราชอาณาจักร
-
ปฏิบัติตามกฎของประเทศไทยเมื่อมีการนำอัฐิออกนอกประเทศ
หากต้องการให้เจ้าหน้าที่ชันสูตรศพของสหราชอาณาจักรทำการชันสูตรพลิกศพ ท่านไม่ควรประกอบพิธีฌาปนกิจที่ประเทศไทย หากท่านไม่สามารถเคลื่อนย้ายอัฐิด้วยตัวเอง บริษัทผู้จัดการศพสามารถช่วยดำเนินการดังกล่าวได้ ท่านสามารถค้นหารายชื่อบริษัทผู้จัดการศพระหว่างประเทศในสหราชอาณาจักรได้ที่นี่ (เป็นภาษาอังกฤษ)
ขอรับคืนทรัพย์สินของผู้เสียชีวิต
ทรัพย์สินส่วนบุคคลที่ติดตัวผู้เสียชีวิต ณ จุดเกิดเหตุจะถูกส่งไปยังตำรวจ หากยังไม่พบญาติของผู้เสียชีวิต
หากเลือกที่จะนำร่างกลับสหราชอาณาจักร โปรดแจ้งบริษัทผู้จัดการศพในประเทศไทยให้รวบรวมทรัพย์สินส่วนบุคคลทั้งหมดจากตำรวจหรือศาล และจัดส่งไปพร้อมกับร่างผู้เสียชีวิต
หากมีการสอบสวนกรณีการเสียชีวิต เจ้าหน้าที่อาจเก็บเสื้อผ้าไว้เป็นหลักฐานและจะไม่ส่งคืนจนกว่าคดีความในศาลจะสิ้นสุดลง
สถานทูตฯ ไม่สามารถช่วยเหลือด้านค่าใช้จ่ายในการส่งทรัพย์สินส่วนบุคคลคืนให้ญาติของผู้เสียชีวิตได้
ค้นหานักแปล
ท่านอาจต้องการใช้บริการนักแปลเพื่อช่วยให้เข้าใจข้อมูลจากหน่วยงานท้องถิ่นหรือแปลเอกสารบางฉบับ โดยสามารถค้นหารายชื่อนักแปลที่นี่ (เป็นภาษาอังกฤษ)
ค้นหาทนายความ
ท่านสามารถขอแต่งตั้งทนายความได้ในบางกรณี เช่น กรณีสาเหตุการเสียชีวิตไม่แน่ชัด โดยสามารถค้นหารายชื่อทนายความที่สื่อสารภาษาอังกฤษได้ที่นี่ (เป็นภาษาอังกฤษ)
ยกเลิกหนังสือเดินทาง
ท่านควรยกเลิกหนังสือเดินทางของผู้เสียชีวิตกับทางสำนักงานหนังสือเดินทางของสหราชอาณาจักร (HMPO) เพื่อป้องกันการปลอมแปลงตัวตน โดยท่านต้องกรอกแบบฟอร์ม D1 (เป็นภาษาอังกฤษ)
หากวางแผนที่จะนำร่างผู้เสียชีวิตกลับสหราชอาณาจักร ท่านอาจต้องใช้หนังสือเดินทางของผู้เสียชีวิตเพื่อดำเนินการดังกล่าว ในกรณีข้างต้น ท่านควรยกเลิกหนังสือเดินทางหลังจากที่ส่งร่างกลับประเทศไปแล้ว
ตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่าท่านได้ดำเนินการที่จำเป็นในสหราชอาณาจักรแล้ว
โปรดอ่านคำแนะนำแต่ละขั้นตอนสำหรับกรณีการเสียชีวิต (เป็นภาษาอังกฤษ) เพื่อให้แน่ใจว่าท่านได้ดำเนินการทุกอย่างที่จำเป็นในสหราชอาณาจักรแล้ว โดยสามารถค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับวิธีแจ้งเสียชีวิตกับรัฐบาล เงินบำนาญและผลประโยชน์ในสหราชอาณาจักร รวมถึงการจัดการทรัพย์สินของผู้เสียชีวิต
เงินบำนาญและเงินช่วยเหลือกรณีเสียชีวิต
สถานทูตฯ ไม่สามารถตอบคำถามเกี่ยวกับเงินบำนาญและเงินช่วยเหลือกรณีเสียชีวิตได้ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โปรดตรวจสอบรายละเอียดดังต่อไปนี้
คู่สมรสและคู่ครองเพศเดียวกันของบุคคลสัญชาติอังกฤษที่เสียชีวิตอาจได้รับเงินบำนาญและเงินช่วยเหลือต่อไปนี้
-
เงินจากที่ทำงานของคู่สมรส เงินบำนาญส่วนบุคคล หรือเงินบำนาญที่สะสมออมกับองค์กร โดยจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของกองทุนเงินบำนาญนั้นๆ โปรดติดต่อกองทุนเงินบำนาญเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โดยเงินบำนาญแห่งชาติของสหราชอาณาจักรจะดำเนินการโดยศูนย์เงินบำนาญระหว่างประเทศ (เป็นภาษาอังกฤษ)
-
เงินบำนาญของคู่สมรสที่เสียชีวิตจากสงคราม (เป็นภาษาอังกฤษ) สำหรับกรณีคู่สมรสเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ในกองทัพของประเทศหรือจากสงคราม
Updates to this page
อัปเดตล่าสุดเมื่อ 7 November 2024 + show all updates
-
Added link to apply for a body release letter online.
-
Adding more details to the part about how to obtain relevant documents and who to contact.
-
Added a new section 'Inform Thai immigration'.
-
Added detail to advise contacting the local police for non-hospital deaths
-
Added Thai language version
-
Updated information on who issues death certificates in Thailand. Provided further detail on post-mortems and how to obtain a consular letter. Added a new section on Pensions and Bereavement Payments
-
First published.